อุปกรณ์การทำอาหารไทย

อุปกรณ์การทำอาหารไทย 


การประกอบอาหารไทยนั้น ง่าย และไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ หรือเครื่องครัวอะไรมากมาย หม้อหรือกระทะสักสองสามใบในครัวเรือนก็เพียงพอที่จะทำอาหารไทยได้แล้ว อย่างไรก็ดี การประกอบอาหารไทยก็มีเครื่องครัวสำคัญที่จำเป็นต้องมี หรือขาดไม่ได้ เหมือนกัน
การ ทำอาหารไทยเกี่ยว ข้องกับการทำเครื่องแกงบ่อยครั้ง ซึ่งการผสมเครื่องแกงให้เข้ากันอย่างสมบูรณ์นั้น จำเป็นต้องมีเครื่องครัวที่เรียกว่า สาก+ครก (Mortar + Pestle) สาก+ครก นั้นมักจะทำจากหินแกรนิตที่มีน้ำหนักมาก นำมาปรับแต่งรูปทรงให้ได้เหมาะตามรูปทรงมาตรฐาน ซึ่งโดยทั่วไปคนไทยก็มักจะมี สาก+ครก อย่างน้อยหนึ่งชุดติดครัวไว้เพื่อประกอบอาหาร ในกรณีที่ท่านไม่มีเครื่องครัวชนิดนี้ เครื่องปั่นอเนกประสงค์ไฟฟ้าก็สามารถใช้ทดแทนกันได้ชั่วคราว สาก+ครกที่ทำจากหินมักจะใช้ในการผสมเครื่องแกงให้เข้ากัน ขณะที่ สาก+ครก ซึ่งทำจากไม้มักจะใช้ประกอบอาหารไทยประเภทตำ + ยำ เช่นส้มตำ (Papaya Salad) อาหารที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี
เครื่อง ครัวที่สำคัญ ใช้กันบ่อย และเป็นที่รู้จักกันอย่างดีน่าจะเป็นกระทะ ถ้าคุณคิดที่จะซื้อเครื่องครัวอะไรสักอย่างสำหรับประกอบอาหารไทย สิ่งแรกที่คุณก็ควรจะซื้อก็คือกระทะนั่นเอง กระทะสามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาหารได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการผัด การต้ม การทอด หรือแม้กระทั่งการนึ่ง จริงๆแล้วรูปทรงกระทะมีคุณสมบัติในการกระจายความร้อนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเหมาะสมอย่างมากกับการประกอบอาหารประเภทผัด

 
กระทะ นั้นมีทั้งที่ผลิตจากเหล็ก, อลูมิเนียม และทองเหลือง โดยทั่วไปครัวตามร้านอาหาร หรือโรงแรมมักนิยมใช้กระทะที่ทำจากเหล็กในการปรุงอาหาร อย่างไรก็ดีสำหรับกระทะเหล็กนั้น มีเคล็ดลับที่สำคัญก่อนการใช้กระทะใหม่ ขั้นตอนนี้เรียกว่า การเปิดกระทะ โดยกระทะเหล็กอันใหม่ที่เพิ่งซื้อมาจะต้องนำไปอังไฟจนแดงและชโลมด้วยน้ำมัน ที่หน้ากระทะ ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะจะเป็นการสร้างฟิล์มน้ำมันที่ผิวหน้าของกระทะ เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารติดกระทะในระหว่างการผัด ขั้นตอนนี้สำคัญมากและต้องทำหลายๆครั้ง ซึ่งหลังจากการเปิดกระทะแล้ว การบำรุงรักษาเป็นสิ่งสำคัญ หลังจากปรุงอาหารเสร็จ ควรล้างด้วยน้ำเปล่าหรือสบู่อ่อนๆ กับฟองน้ำเท่านั้น เพื่อไม่ให้ฟิล์มน้ำมันที่ติดอยู่บนผิวกระทะหลุดลอกออกไป

กระทะ นั้นมีหลายขนาดให้เลือก ในขั้นตอนการเลือกซื้อนั้น คุณจำเป็นต้องคำนึงถึงปริมาณอาหารที่ปรุงเป็นประจำ ถ้าจำนวนสมาชิกครอบครัวไม่มากและปรุงอาหาร สำหรับรับประทานภายในครัวเรือนเท่านั้น ขนาดกระทะก็ไม่ควรจะใหญ่จนเกินไป เคล็ดลับที่ควรรู้คือ ถ้าคุณปรุงอาหารจำนวนที่ไม่มากในกระทะขนาดที่ใหญ่เกินไป จะส่งผลให้อาหารถูกความร้อนสูงที่เกิดจากผิวกระทะที่กว้าง อาหารจะแห้งและไหม้เร็วกว่าปกติ ในขณะเดียวกัน ถ้าปรุงอาหารในปริมาณที่มากกับขนาดกระทะที่เล็กเกินไป ก็จะส่งผลให้อาหารไม่ได้สัมผัสกับผิวกระทะที่ร้อนในปริมาณที่พอเหมาะ อาหารจึงสุกช้ากว่าที่ควรจะเป็น ด้ามจับกระทะที่เป็นไม้ช่วยให้สามารถจับกระทะในขณะที่ปรุงอาหารได้ง่าย แต่ถ้าเป็นกระทะที่ไม่มีด้ามไม้หรือมีด้ามเป็นเหล็ก การจับกระทะอาจต้องใช้ถุงมือหรือผ้าอื่นๆช่วย
เครื่อง ครัวอื่นๆที่จำเป็นในการประกอบอาหารไทย ได้แก่ ซึ้ง (Steamer) ซึ้งมักใช้ในการปรุงอาหารประเภทนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการนึ่งข้าวเหนียว (Sticky Rice) หรือการนึ่งปลา และนึ่งผักต่างๆสำหรับการรับประทานกับน้ำพริก ”ซึ่ง “ มีหลายชนิด ไม่ว่าจะผลิตจากอลูมิเนียม ซึ่งมีแบบชั้นเดียวหรือหลายชั้น นอกจากนั้นยังมี “ซึ้ง” ที่ทำจากไม้ไผ่ แต่ภาชนะด้านใต้ทำจากโลหะ ซึ้งไม้ไผ่ราคาถูกกว่าซึ้งอลูมิเนียม แต่ในการบำรุงรักษาจำเป็นต้องมีการผึ่งแดดให้แห้งสนิทเพื่อป้องกันเชื้อรา และการเสียรูปทรงของซึ้ง
ทัพพี ในการปรุงอาหารไทยนั้น สามารถใช้ในขั้นตอนการผัดอาหาร ขอบที่กลมทำให้การผัดทำได้ง่าย และไม่ทำลายฟิลม์น้ำมันที่ติดอยู่บนหน้ากระทะ นอกจากนั้นทัพพียังสามารถใช้กวนในขั้นตอนการต้ม ปรุงแกงหรือน้ำแกงได้อีกด้วย
นอก จากเครื่องครัวที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว คุณสามารถที่จะประยุกต์ใช้เครื่องครัวที่คุณมี เพื่อทดแทนเครื่องครัวหลักในการปรุงอาหารไทยได้ หลังจากที่คุณทราบถึงแก่นแท้ในการปรุงอาหารไทยแล้ว คุณจะรู้ว่าเครื่องครัวชนิดใดเหมาะกับการปรุงอาหารประเภทใด และเครื่องครัวชนิดใดที่คุณสามารถใช้แทนเครื่องครัวที่คุณไม่มี อย่างเช่น คุณสามารถใช้กระทะต้มน้ำแกง แทนที่จะใช้แต่หม้อต้มน้ำแกง เป็นต้น